วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2560

การป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์


โรงเรือนมาตรฐานป้องกันโรคไข้หวัดนก การป้องกันที่ดีทำให้เกษตรกรลดความเสี่ยงไปได้อีกระดับ แนวทางที่กรมปศุสัตว์แนะนำเพื่อป้องกันโรคต่างๆที่จะเข้าสู่ฟาร์มไก่มีดังนี้ หลักการสร้างโรงเรือนไก่พื้นเมืองรายย่อยให้มีประสิทธิภาพ 1. โรงเรือนป้องกัน ฝนกันลมได้ 2. โรงเรือนต้องมีตาข่าย ล้อมรอบ ป้องกันนก หนู 3. ต้องมีอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อ เข้า-ออก 4. มีพื้นที่ให้ไก่ ได้หากิน 5. มีแนวรั้วป้องกัน สุนัขแมว และสัตว์อื่นๆ 6. หากนำไก่เข้ามาใหม่ หรือออกไปชนต้องแยกไม่ให้เข้าโรงเรือนอย่างน้อย 7 วัน. กันไว้ดีกว่าแก้ครับ

วันพุธที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560

ลุงบุญชวนร่วมประชุมคณะทำงานโครงการผลิตและแปรรูปไก่ประดู่หางดำเชิงคุณภาพครบวงจรในเขตภาคเหนือตอนบน 2 ประจำปีงบประมาณ 2561

เมื่อบ่าย วันที่ 27 กันยายน 2560 นายนพพร  มหากันธา ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย เป็นประธานในการประชุมคณะทำงานโครงการผลิตและแปรรูปไก่ประดู่หางดำเชิงคุณภาพครบวงจรในเขตภาคเหนือตอนบน 2 ประจำปีงบประมาณ 2561 รวมทั้งการชี้แจงระบบ Good Farming Management (GFM) ณ ห้องประชุมสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย ซึ่งลุงบุญชวน มะลัยโย ในนามของผู้นำสมาชิกแปลงใหญ่ไก่ประดู่หางดำ ตำบลดงมหาวันอำเภอเวียงเชียงรุ้ง ได้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะกับสมาชิกแปลงใหญ่ทั้งสองอำเภอคืออำเภอเวียงเชียงรุ้ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย


วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง บุญชวนฟาร์ม..เดินตามพ่อ..ยั่งยืน


     ลุงชวน หรือชื่อเต็มว่า นายบุญชวน มะลัยโย ปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง คนเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย ย้ายมาจาดร้อยเอ็ด อดีตสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลดงมหาวัน อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย เจ้าของศูนย์เรียนรู้ฯบบุญชวนฟาร์ม ที่คนในพื้นที่เรียกกันอย่างเป็นกันเองว่า "พ่อใหญ่ชวนบ้านปงบน"

     บุญชวนฟาร์ม ตั้งอยู่เลขที่ 91 หมู่ 10 บ้านปงบน  ตำบลดงมหาวัน อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย ที่มีสโลแกนว่า "แหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยวิถีวัฒนธรรมประเพณีสองภาค  ดินแดนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" 

     ลุงชวนจัดการบุญชวนฟาร์มบนเนื้อที่ทั้งหมด 14 ไร่ อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันร่มรื่นจาก ไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุก ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ผล ที่ขาดไม่ได้แหล่งน้ำ ลุงชวนทำสวนแบบเกษตรทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นแบบผสมผสานที่มีสัตว์นำโดยจะมีควายเป็นหลัก เป็ด ไก่ ทั้งทำนา ปลูกผัก พืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น ขุดสระเลี้ยงปลา

     บอกว่ายึดหลักปลูกทุกอย่างที่กินได้ กินทุกอย่างที่ปลูกตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

     "แบ่งพื้นที่ได้อย่างลงตัว ทำให้พื้นที่ดูรมรื่นน่าอยู่อาศัยเป็นที่สุด แม้แดดจะร้อนแต่กว่าจะผ่านร่มเงาของต้นไม้มาได้ก็ช่วยให้ไม่ร้อนเท่าไร ร่มเงาที่ได้นั้นช่วยบรรเทาไอร้อนเป็นไอเย็นได้อย่างสบาย"ลุงชวนเกริ่นถึงบรรยากาศในศูนย์ฯ

     ศูนย์เรียนรู้บุญชวนฟาร์มของลุงชวนทำการเกษตรที่เอื้อต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (เกษตรอินทรีย์) น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต ทั้งการเกษตรแบบผสมผสาน ทำตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ ลุงชวนบอกว่าเพื่อให้พื้นดินแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย 

     ลุงชวนเล่าให้ฟังว่า เลี้ยงวัว ควาย ตามพ่อแม่ มาตั้งแต่เด็ก และปี 2537 ได้รับการแนะนำจากเกษตรอำเภอให้เข้าโครงการแก้ไขความยากจนอบรมการทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่แบบผสมผสาน เพราะประทับใจแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเกษตรทฤษฏีใหม่ ที่พระองค์ได้พระราชทานไว้
     เพราะไม่เคยมีใครริเริ่มถึงเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ในพื้นที่เล็กๆ ให้เกิดความยั่งยืน สิ่งที่พระองค์พระราชทานไว้เป็นแรงบันดานใจในการน้อมนำแนวพระราชดำริมาปฏิบัติ จนวันนี้กว่า 20 ปีแล้ว

      เกษตรทฤษฎีใหม่ฯ เป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรที่มีพื้นที่ไม่มาก ไม่ควรทำเกษตรเชิงเดี่ยวถ้าหันมาทำการเกษตรแบบผสมผสานจะลดปัญหาต่างๆ ได้

     "สวนของลุงมีทุกอย่าง ปลูกต้นไม้ ไม้ 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่างที่ในหลวงพระราชทานพระราชดำริไว้ ปลูกไม้สร้างบ้าน ไม้สัก ไม้พยูง มีไม้มากกว่า 800 ชนิด ปลูกทุกอย่าง ทั้งกินได้กินไม่ได้ พืชผักสวนครัว สมุนไพรต่างๆ ผัก ผลไม้ ลุงมีหมด วัว ควาย หมูหลุม ม้า  เป็ด ไก่ ห่าน ปลา แบ่งพื้นที่ตามที่ในหลวงบอก 30:30:30:10 ใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด ลุงต้องการให้คนที่เข้ามาเรียนรู้ได้อะไรๆ กลับไปปรับใช้กับชีวิตตัวเอง รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่มีคนเข้ามาแล้วได้เห็นไม้อะไรที่ไม่เคยเห็นที่อื่น"

     ลุงชวนกล่าวย้ำว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องลดรายจ่ายมากที่สุด

    เยาวชนเด็กสมัยนี้ถ้าไม่เข้าใจเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบันลำบาก ถ้าไม่รู้จักตนเอง ไม่สามารถประเมินศักยภาพตนเองได้ว่าควรจะอยู่อย่างไร กินอะไร ถ้าทำอะไรที่เกินตัว จะลำบากไม่มีความสุข จะไม่สามารถหาความสุขที่แท้จริงได้ว่าอยู่ที่ไหน

     "คนเราถ้ามีความพอเพียงแล้วก็จะไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น หรือแม้กระทั่งสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ถ้าทุกคนนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯน้อมนำไปปฏิบัติและปรับใช้กับตนเองนั้นจะทำให้เกิดความสุข มีความยั่งยืน ไม่เบียดเบียนใคร ชีวิตที่เปี่ยมสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินที่มี แต่ขึ้นอยู่กับใครอยู่อย่างพอเพียงนั้นละความสุขที่แท้จริง" ลุงชวนบอกด้วยรอยยิ้ม เพราะในวันนี้ลุงชวนมีความสุขอย่างยั่งยืนแล้ว 
     "ลุงชวนแห่งสวนบุญชวนฟาร์ม" เป็นต้นแบบของการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่มาใช้แล้วเกิดความยั่งยืน ส่งผลต่อชีวิตอย่างแท้จริง ลุงชวนกลายเป็นต้นแบบของเกษตรกรและบุคคลทั้งจากแดนใกล้และใกล้  รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ได้มาเรียนรู้ ถึงการทำการเกษตร

     โดยน้อมนำเอาพระราชดำริพ่อของแผ่นดิน เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง สร้างเกษตรปลอดสารพิษ อาหารปลอดพิษ เกษตรป่าไม้ ป่าสมุนไพรในบ้านอย่างครบวงจร เป็นทรัพยากรธรรมชาติในที่ทำให้ลุง มีความสุขอย่างยั่งยืน อยู่ได้แบบพึ่งพาตนเองในทุกวันนี้

     คำที่ลุงชวนพูดฟังดูติดตลก แต่คิดให้ดีแล้ว แฝงด้วยความจริงที่ทำให้เราต้องกลับมาคิด ลุงว่าลุงไม่ออกจากบ้านไปตลาดสักเดือนก็อยู่ได้ มีกินมีใช้ไม่ลำบาก บ้านของลุงยิ่งกว่าตลาด ยิ่งกว่าตู้เย็น ไม่มีเงินก็อยู่ได้ ดูจากสภาพแล้วจริงแท้ แต่กลับกันถ้าคนทั่วไปหรือผู้เขียนเองถ้าไม่ออกจากบ้านไปจ่ายตลาดแค่วันเดียว จะเป็นอย่างไร ก็ไม่มีอะไรกินเป็นแน่ เป็นสิ่งที่น่าคิดทีเดียว


     ไม่น่าแปลกใจที่สวนบุญชวนฟาร์ม จะมีผู้คนเข้าไปศึกษาเรียนรู้ เพื่อขอคำแนะนำคำปรึกษาตลอกทั้งปี เพราะที่นี้มีทุกอย่างที่เกษตรกรที่มีพื้นที่น้อยต้องการทำเกษตรแบบผสมผสานแล้วพออยู่พอกิน มีความสุข

      ด้วยองค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านผู้นี้เป็นแรงดึงดูดที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน เป็นต้นแบบของการอยู่ในสังคมโดยที่เงินไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดความสุข เพราะนั่นคือการดำเนินชีวิตอยู่อย่างมีความสุขจากความพอเพียง พออยู่ พอกิน พอใช้

      คือการเดินตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อ ที่พระองค์พระราชทานไว้ให้เป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตของทุกคนนั่นเอง. 
........................................................

วันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ช่วงนี้ลุงบุญชวนกำลัง เรียนต่อเรื่อง สานต่อศาสตร์พระราชา

บันได ๙ ขั้นสู่พอเพียง และความสำเร็จ

หนึ่งปีผ่านมาพบปะลุงบุญชวน ครัั้งใด ลุงมักจะเล่าเรื่องการได้ไปสอบเรียนต่อในหลักสูตร ศาสตร์พระราชา ไปอบรมที่นั่นที่นี่ พบปะนักเรียนหลายวัย ตลอดจนการถูกทดสอบของการเรียนรู้ ว่าพัฒนาไปถึงไหนแล้ว ผมเลยขอขั้นรายการที่เกี่ยวกับคุณลุงเอาเรื่องดีๆคือ บันได ๙ ขั้น มาฝากนะครับ



บันไดขั้นที่ ๑-๔ คือ เศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน

ขั้นที่ ๑ พอกิน 
พื้นฐานที่สุดของมนุษย์ คือ ความต้องการปัจจัย ๔ และประการสำคัญที่สุดของปัจจัย ๔ คือ อาหาร ขั้นที่ ๑ ของแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือ ตอบคำถามให้ได้ว่า “ทำอย่างไรจึงจะพอกิน” โดยให้ความสำคัญกับ ข้าวปลาอาหาร ไม่ให้ความสำคัญกับเงิน ซึ่งเป็นเพียงแค่ “ตัวกลาง” ในการแลกเปลี่ยนตามมาตรฐานสากล โดยยึดหลักว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง”
 
เกษตรกรต้องเริ่มจากการอยู่ให้ได้โดยไม่ใช้เงิน มีอาหารพอมี พอกิน ด้วยการปลูกพืช ผัก ผลไม้ ให้พอกิน ชาวนาต้องเก็บข้าวไว้ให้เพียงพอสำหรับการมีกินทั้งปี ไม่ขายข้าวเปลือกเพื่อนำเงินไปซื้อข้าวสาร
 
นอกจากนั้น หัวใจสำคัญของ “พอกิน” ยังมีความหมายรวมไปถึงความปลอดภัยในอาหาร กินอย่างไรให้มีสุขภาพดี ไม่สะสมเอาความเจ็บไข้ได้ป่วยไว้ในร่างกาย นี่คือความหมายของบันไดขั้นที่ ๑ ที่เกษตรกรต้องก้าวข้ามให้ได้
 


ขั้นที่ ๒-๔ พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น
 
 บันไดขั้นที่ ๒-๔ พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น เกิดขึ้นได้พร้อมกัน ด้วยคำตอบเดียวคือ “ปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง” ซึ่งป่า ๓ อย่างจะให้ทั้ง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สมุนไพรสำหรับรักษาโรค ทั้งโรคคน โรคพืช โรคสัตว์ ให้ไม้สำหรับทำบ้านพักที่อยู่อาศัย และให้ความร่มเย็นกับบ้าน กับชุมชน กับโลกใบนี้ ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทย ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถแก้ปัญหาได้จริง และยังสามารถย้อนกลับไปแก้ไขปัญหาหนี้สินซึ่งสะสมพอกพูนจากการทำ เกษตรเชิงเดี่ยว ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ปัญหาความขาดแคลนนำ ภัยแล้ง ทั้งหมดล้วนแก้ไขได้จากแนวคิดป่า ๓ อย่างประโยชน์ ๔ อย่างขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
 


บันไดขั้นที่ ๕-๙ คือ เศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้า

ขั้นที่ ๕-๖ บุญและทาน
 
เครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียง เชื่อมั่นว่าสังคมไทยเป็นสังคมบุญ สังคมทาน ไม่เน้นการแลกเปลี่ยนทางการค้า แต่เน้นการทำบุญ ไม่เน้นการสะสมเป็นของส่วนตัว แต่เน้นการให้ทานและสะสมโดยมอบให้เป็นทรัพย์สินส่วนรวมโดยวัด หรือศาสนสถานตามแต่ละศาสนาเป็นศูนย์กลาง เป็นการฝึกจิตใจ ให้ละซึ่งความโลภ และกิเลสในการอยากได้ ใคร่มี ลดปัญหาช่องว่างระหว่างชนชั้น ตามความหมายอันลึกซึ้งของคำ “Our Loss is Our Gain” หรือ “ยิ่งทำยิ่งได้ ยิ่งให้ยิ่งมี” การให้ไปคือได้มา และเชื่อมั่นในฤทธิ์ของทาน ว่าทานมีฤทธิ์จริง และจะส่งผลกลับมาเป็นเพื่อน เป็นกัลยาณมิตร เป็นเครือข่ายที่ช่วยเหลือกันในทุกสถานการณ์ แม้ในวันที่โลกนี้ประสบกับวิกฤตการณ์
 


ขั้นที่ ๗ เก็บรักษา
 
 ขั้นต่อไปหลังจากสามารถพึ่งตนเองได้ พอมี พอเหลือทำบุญ ทำทานแล้ว คือการรู้จักเก็บรักษา ซึ่งเป็นการตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และการรู้จักเก็บรักษา ยังเป็นการสร้างรากฐานของการเอาตัวรอดในเวลาเกิดวิกฤตการณ์ โดยยึดแนวทางตามวิถีชีวิตชาวนาสมัยก่อนซึ่งเก็บรักษาข้าวไว้ในยุ้งฉางเพื่อ ให้พอมีกินข้ามปี คัดเลือกและเก็บรักษา “ข้าวพันธุ์” ไว้สำหรับเป็นพันธุ์ข้าวในปีต่อไป ซึ่งผิดกับวิถีชาวนาในปัจจุบันที่ใช้วิธีการขายข้าวทั้งหมด แล้วนำเเงินที่ขายได้ไปซื้อพันธุ์ข้าวเพื่อปลูกในปีต่อไป ส่งผลให้เกิดการขาดความมั่นคงและเปรียบเสมือนการใช้ชีวิตอยู่บนเส้นทางสาย ความประมาท เพราะหากเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม ผลผลิตไม่ได้ตามที่ตั้งใจไว้ ย่อมหมายถึงปัญหาหนี้สินและการขาดแคลนพันธุ์ข้าวสำหรับปลูกในปีต่อไป
 
นอกจากเก็บพันธุ์ข้าวแล้ว ยังเน้นให้รู้จักวิธีการถนอมอาหาร การ สะสม อาหารไว้กินในยามหน้าแล้ง ด้วยการแปรรูปอาหารหลากชนิด อาทิ ปลาร้า ปลาแห้ง มะขามเปียก พริกแห้ง หอม กระเทียม เพื่อเก็บไว้กินในอนาคต
 


ขั้นที่ ๘ ขาย
 
เนื่องจากเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่เศรษฐกิจการค้า แต่ก็ไม่ใช่เศรษฐกิจหลังเขา การค้าขายสามารถทำได้ แต่ทำภายใต้การรู้จักตนเอง รู้จักพอประมาณ และทำไปตามลำดับ โดยของที่ขาย คือ ของที่เหลือจากทุกขั้นแล้วจึงนำมาขาย เช่น ทำนาอินทรีย์ ปลูกข้าวปลอดสารเคมี ไม่ทำลายธรรมชาติ ได้ผลผลิตเก็บไว้พอกิน เก็บไว้ทำพันธุ์ ทำบุญ ทำทาน แล้วจึงนำมาขายด้วยความรู้สึกของการ “ให้” อยากที่จะให้สิ่งดีๆ ที่เราปลูกเอง เผื่อแผ่ให้กับคนอื่นๆ ได้รับสิ่งดีๆ นั้นๆ ด้วย 

การค้าขายตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นการค้าที่มองกลับด้าน “เพราะรักคุณจึงอยากให้คุณได้รับในสิ่งดีๆ” พอเพียงเพื่ออุ้มชู เผื่อแผ่ แบ่งปัน ไปด้วยกัน
 


ขั้นที่ ๙ (เครือ) ข่าย กองกำลังเกษตรโยธิน
 
 คือการสร้างกองกำลังเกษตรโยธิน หรือการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทั้งประเทศ เพื่อขยายผลความ สำเร็จตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สู่การปฏิวัติแนวคิด และวิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคม ในชุมชน เพื่อการแก้ปัญหาวิกฤต ๔ ประการ อันได้แก่ วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ (Environmental Crisis) วิกฤตการณ์โรคระบาดทั้งในคน สัตว์ พืช (Epidemic Crisis) วิกฤตเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพง (Economic Crisis) วิกฤตความขัดแย้งทางสังคม/สงคราม (Political/Social Crisis)