วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง บุญชวนฟาร์ม..เดินตามพ่อ..ยั่งยืน


     ลุงชวน หรือชื่อเต็มว่า นายบุญชวน มะลัยโย ปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง คนเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย ย้ายมาจาดร้อยเอ็ด อดีตสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลดงมหาวัน อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย เจ้าของศูนย์เรียนรู้ฯบบุญชวนฟาร์ม ที่คนในพื้นที่เรียกกันอย่างเป็นกันเองว่า "พ่อใหญ่ชวนบ้านปงบน"

     บุญชวนฟาร์ม ตั้งอยู่เลขที่ 91 หมู่ 10 บ้านปงบน  ตำบลดงมหาวัน อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย ที่มีสโลแกนว่า "แหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยวิถีวัฒนธรรมประเพณีสองภาค  ดินแดนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" 

     ลุงชวนจัดการบุญชวนฟาร์มบนเนื้อที่ทั้งหมด 14 ไร่ อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันร่มรื่นจาก ไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุก ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ผล ที่ขาดไม่ได้แหล่งน้ำ ลุงชวนทำสวนแบบเกษตรทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นแบบผสมผสานที่มีสัตว์นำโดยจะมีควายเป็นหลัก เป็ด ไก่ ทั้งทำนา ปลูกผัก พืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น ขุดสระเลี้ยงปลา

     บอกว่ายึดหลักปลูกทุกอย่างที่กินได้ กินทุกอย่างที่ปลูกตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

     "แบ่งพื้นที่ได้อย่างลงตัว ทำให้พื้นที่ดูรมรื่นน่าอยู่อาศัยเป็นที่สุด แม้แดดจะร้อนแต่กว่าจะผ่านร่มเงาของต้นไม้มาได้ก็ช่วยให้ไม่ร้อนเท่าไร ร่มเงาที่ได้นั้นช่วยบรรเทาไอร้อนเป็นไอเย็นได้อย่างสบาย"ลุงชวนเกริ่นถึงบรรยากาศในศูนย์ฯ

     ศูนย์เรียนรู้บุญชวนฟาร์มของลุงชวนทำการเกษตรที่เอื้อต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (เกษตรอินทรีย์) น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต ทั้งการเกษตรแบบผสมผสาน ทำตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ ลุงชวนบอกว่าเพื่อให้พื้นดินแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย 

     ลุงชวนเล่าให้ฟังว่า เลี้ยงวัว ควาย ตามพ่อแม่ มาตั้งแต่เด็ก และปี 2537 ได้รับการแนะนำจากเกษตรอำเภอให้เข้าโครงการแก้ไขความยากจนอบรมการทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่แบบผสมผสาน เพราะประทับใจแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเกษตรทฤษฏีใหม่ ที่พระองค์ได้พระราชทานไว้
     เพราะไม่เคยมีใครริเริ่มถึงเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ในพื้นที่เล็กๆ ให้เกิดความยั่งยืน สิ่งที่พระองค์พระราชทานไว้เป็นแรงบันดานใจในการน้อมนำแนวพระราชดำริมาปฏิบัติ จนวันนี้กว่า 20 ปีแล้ว

      เกษตรทฤษฎีใหม่ฯ เป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรที่มีพื้นที่ไม่มาก ไม่ควรทำเกษตรเชิงเดี่ยวถ้าหันมาทำการเกษตรแบบผสมผสานจะลดปัญหาต่างๆ ได้

     "สวนของลุงมีทุกอย่าง ปลูกต้นไม้ ไม้ 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่างที่ในหลวงพระราชทานพระราชดำริไว้ ปลูกไม้สร้างบ้าน ไม้สัก ไม้พยูง มีไม้มากกว่า 800 ชนิด ปลูกทุกอย่าง ทั้งกินได้กินไม่ได้ พืชผักสวนครัว สมุนไพรต่างๆ ผัก ผลไม้ ลุงมีหมด วัว ควาย หมูหลุม ม้า  เป็ด ไก่ ห่าน ปลา แบ่งพื้นที่ตามที่ในหลวงบอก 30:30:30:10 ใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด ลุงต้องการให้คนที่เข้ามาเรียนรู้ได้อะไรๆ กลับไปปรับใช้กับชีวิตตัวเอง รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่มีคนเข้ามาแล้วได้เห็นไม้อะไรที่ไม่เคยเห็นที่อื่น"

     ลุงชวนกล่าวย้ำว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องลดรายจ่ายมากที่สุด

    เยาวชนเด็กสมัยนี้ถ้าไม่เข้าใจเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบันลำบาก ถ้าไม่รู้จักตนเอง ไม่สามารถประเมินศักยภาพตนเองได้ว่าควรจะอยู่อย่างไร กินอะไร ถ้าทำอะไรที่เกินตัว จะลำบากไม่มีความสุข จะไม่สามารถหาความสุขที่แท้จริงได้ว่าอยู่ที่ไหน

     "คนเราถ้ามีความพอเพียงแล้วก็จะไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น หรือแม้กระทั่งสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ถ้าทุกคนนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯน้อมนำไปปฏิบัติและปรับใช้กับตนเองนั้นจะทำให้เกิดความสุข มีความยั่งยืน ไม่เบียดเบียนใคร ชีวิตที่เปี่ยมสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินที่มี แต่ขึ้นอยู่กับใครอยู่อย่างพอเพียงนั้นละความสุขที่แท้จริง" ลุงชวนบอกด้วยรอยยิ้ม เพราะในวันนี้ลุงชวนมีความสุขอย่างยั่งยืนแล้ว 
     "ลุงชวนแห่งสวนบุญชวนฟาร์ม" เป็นต้นแบบของการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่มาใช้แล้วเกิดความยั่งยืน ส่งผลต่อชีวิตอย่างแท้จริง ลุงชวนกลายเป็นต้นแบบของเกษตรกรและบุคคลทั้งจากแดนใกล้และใกล้  รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ได้มาเรียนรู้ ถึงการทำการเกษตร

     โดยน้อมนำเอาพระราชดำริพ่อของแผ่นดิน เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง สร้างเกษตรปลอดสารพิษ อาหารปลอดพิษ เกษตรป่าไม้ ป่าสมุนไพรในบ้านอย่างครบวงจร เป็นทรัพยากรธรรมชาติในที่ทำให้ลุง มีความสุขอย่างยั่งยืน อยู่ได้แบบพึ่งพาตนเองในทุกวันนี้

     คำที่ลุงชวนพูดฟังดูติดตลก แต่คิดให้ดีแล้ว แฝงด้วยความจริงที่ทำให้เราต้องกลับมาคิด ลุงว่าลุงไม่ออกจากบ้านไปตลาดสักเดือนก็อยู่ได้ มีกินมีใช้ไม่ลำบาก บ้านของลุงยิ่งกว่าตลาด ยิ่งกว่าตู้เย็น ไม่มีเงินก็อยู่ได้ ดูจากสภาพแล้วจริงแท้ แต่กลับกันถ้าคนทั่วไปหรือผู้เขียนเองถ้าไม่ออกจากบ้านไปจ่ายตลาดแค่วันเดียว จะเป็นอย่างไร ก็ไม่มีอะไรกินเป็นแน่ เป็นสิ่งที่น่าคิดทีเดียว


     ไม่น่าแปลกใจที่สวนบุญชวนฟาร์ม จะมีผู้คนเข้าไปศึกษาเรียนรู้ เพื่อขอคำแนะนำคำปรึกษาตลอกทั้งปี เพราะที่นี้มีทุกอย่างที่เกษตรกรที่มีพื้นที่น้อยต้องการทำเกษตรแบบผสมผสานแล้วพออยู่พอกิน มีความสุข

      ด้วยองค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านผู้นี้เป็นแรงดึงดูดที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน เป็นต้นแบบของการอยู่ในสังคมโดยที่เงินไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดความสุข เพราะนั่นคือการดำเนินชีวิตอยู่อย่างมีความสุขจากความพอเพียง พออยู่ พอกิน พอใช้

      คือการเดินตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อ ที่พระองค์พระราชทานไว้ให้เป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตของทุกคนนั่นเอง. 
........................................................

วันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2560